วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2552

การสำรวจเพื่อทำแผนที่

1. ความมุ่งหมาย
ในการศึกษาแผนที่นั้น ผู้อ่านหรือผู้ใช้จำเป็นจะต้องทราบรายละเอียดและความถูกต้องในแง่ต่างๆ ในแผนที่ เช่น การหาทิศทาง ระดับความสูงและตำแหน่งที่แท้จริงบนผิวโลก จึงจำเป็นที่จะต้องให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสำรวจ เพื่อทำแผนที่

2. งานสำรวจทางยีออเดซี ( Geodesy )
เนื่องจากโลกมีลักษณะเป็นรูป Spheroid ทำให้หลักเกณฑ์และวิธีการสำรวจยุ่งยากขึ้น ดังนั้นถ้าหากต้องการจะสำรวจแผนที่ให้ถูกต้องจริง ๆ แล้ว จำเป็นต้องคำนึงถึงความโค้งของผิวโลกด้วย ในการสำรวจเพื่อทำแผนที่ โดยคำนึงถึงความโค้งของผิวโลกนี้เราเรียกว่า การสำรวจ ทางยีออเดซี (Geodesy) ซึ่งการสำรวจโดยวิธีนี้ มีวิธีการหลายอย่างเช่น Triangulation, Traverse, Gravity ฯลฯ วิธีการเหล่านี้ จะทำให้เราทราบถึงขนาด ( Size ) รูปร่าง ( Shape ) ของโลกเราได้

3. การสำรวจแบบราบ ( Plane Servey )
เป็นการสำรวจเพื่อทำแผนที่ ในบริเวณที่ไม่กว้างขวางมากนัก เนื่องจากในระยะทางใกล้ ๆ นั้น ส่วนโค้งของโลกมีน้อยมาก คือระยะทางบนพื้นโลกประมาณ 4 ก.ม. จะเป็นเส้นตรง จนทำให้เราสังเกตไม่เห็นส่วนโค้ง เปรียบเสมือนว่าผิวโลกบริเวณนั้นแบนราบ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ความยุ่งยากในการสำรวจน้อยลง

4. การจัดทำหมุดหลักฐาน ( Control Point )
หมุดหลักฐาน คือ จุดที่เลือกขึ้นในภูมิประเทศ เพื่อใช้เป็นโครงสร้างของการทำแผนที่นั่นเอง ถ้าเป็นการหาตำแหน่งที่ทำการสำรวจหาตำบลที่แน่นอนไว้ เรียกว่า หมุดหลักฐานทางแนวนอน หรือทางราบ ( Horizontal Control ) แต่ถ้าเป็นจุดที่ทำการสำรวจหาระดับสูงที่แน่นอนไว้ ก็เรียกว่า หมุดหลักฐานทางแนวยืน หรือทางดิ่ง ( Vertical Control )
ในการสำรวจเพื่อวางหมุดหลักฐาน เพื่อหาระดับความสูงและหาตำบลที่ในภูมิประเทศ เป็นงานที่มีการจัดลำดับความละเอียดถี่ถ้วนของผลงานไว้เป็นขั้น ๆ คือ ถ้าผลงานมีความละเอียด สูงเยี่ยม เรียกว่า งานขั้นที่ 1 ( First Order ) ถ้ามีความละเอียดรองลงมา เรียกว่า งานขั้นที่ 2 ( Second Order ) และเป็นงานขั้นที่ 3 ( Third Order ) และขั้นที่ 4 ตามลำดับ
หมุดหลักฐานในงานขั้นที่ 1,2 และ 3 ถือเป็นหมุดหลักฐานหลัก ซึ่งจะวางไว้ตามตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั่วประเทศเพื่อเป็นหลักในการวางหมุดหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งเรียกว่าหมุดหลักฐานย่อย ซึ่งใช้ประโยชน์ในกิจการเฉพาะอย่าง เช่น การสำรวจทางอุทกศาสตร์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการทำหน้าที่วางหมุดหลักฐานหลัก คือ กรมแผนที่ทหาร

4.1 การวางหมุดหลักฐานในแนวนอน ( Horizontal Control )
ในการวางหมุดหลักฐาน เพื่อการสำรวจทำแผนที่บริเวณหนึ่งบริเวณใดนั้น ความหนาแน่นของหมุดหลักฐานย่อมทำให้การทำแผนที่มีความถูกต้องในด้านทิศทาง และตำแหน่งมีมากขึ้น ในการวางหมุดหลักฐานหลักจึงจำเป็นต้องวางในที่ ๆ สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ยอดเขา ทางแยกของถนน คอสะพาน ฯลฯ
การวางหมุดหลักฐานในแนวนอนนั้น เมื่อได้วางหมุดหลักฐานหลักตามจุดต่าง ๆ แล้วก็ทำการรังวัดเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เป็นรูปทรงทางเรขาคณิต แล้วนำผลของการรังวัดเพื่อหาตำแหน่งใช้เป็นหมุดหลักฐานต่อไป

4.2 การวางหมุดหลักฐานในแนวยืน ( Vertical Control )
เป็นการสำรวจเพื่อควบคุมความถูกต้องในระดับสูง เรียกว่า งานระดับ ( Leveling ) ซึ่งเป็นวิธีหาระยะความสูงตามแนวยืนของจุดต่าง ๆ บนพื้นโลก

5. งานโครงข่ายสามเหลี่ยม ( Triangulation )
คือ การทำรังวัดรูปสามเหลี่ยมในภูมิประเทศ แล้วนำผลของการรังวัดไปคำนวณจนได้ตำแหน่งในภูมิประเทศตามจุดนั้นๆ ตามวิธีทางเรขาคณิตเราพบว่า สามเหลี่ยมรูปหนึ่ง เมื่อรู้ด้าน 1 ด้านและมุม 2 มุม สามารถคำนวณหาด้านที่สามได้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกำหนดเส้นฐาน ( Base line ) ขึ้นก่อนในพื้นราบ

6. งานวงรอบ ( Traverse Line )
เป็นการวางหมุดหลักฐานในแนวนอนวิธีหนึ่ง บริเวณที่เป็นพื้นราบ คือ เมื่อได้เลือกจุดในภูมิประเทศที่จะวางเป็นหมุดหลักฐานแล้ว ก็เชื่อมโยงจุดเหล่านี้เข้าด้วยกันด้วยแนวตรงไปเป็น ทอด ๆ ลัดเลาะต่อเนื่องกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ เรียกว่า เส้นวงรอบ ซึ่งประกอบด้วยการวัดความยาวของเส้นตรงแต่ละแนว และมุมราบระหว่างแนวตรงเป็นคู่ ๆ ไป

7. การสำรวจเพื่อลงรายละเอียดในแผนที่
คือการเขียนลวดลายแสดงรายละเอียดของภูมิประเทศลงในแผ่นกระดาษ เพื่อให้เกิดแผนที่ขึ้น โดยมีหมุดหลักฐานที่ได้สำรวจไว้แล้ว เป็นเครื่องยึดโยงให้รายละเอียดนั้นถูกต้อง โดยการสร้างเส้นขนานและเส้นเมอริเดียนลงในกระดาษ ตามลักษณะของเส้นโครงของแผนที่แบบที่เลือกขึ้นใช้ แล้วเขียนจุดที่เป็นหมุดหลักฐานทางแนวนอนลงไป ในเส้นโครงแผนที่นั้นให้ตรงตามตำบลที่ตั้ง จากนั้นก็ใช้จุดเหล่านั้นเป็นกรอบสำหรับโยงยึดรายละเอียดต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง ส่วนการโยงยึดทางแนวยืนขอบภูมิประเทศที่มีความสูง เช่น บริเวณพื้นที่ภูเขาให้ใช้ค่าระดับสูงของหมุดหลักฐานเป็นกรอบในการหาระดับสูงของจุดต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการอ่านลักษณะความสูงต่ำของ ภูมิประเทศ และต่อการเขียนเส้นชั้นความสูง

8. การสำรวจทางอากาศ เพื่อทำแผนที่
หมายถึง การสำรวจรายละเอียดของภูมิประเทศ โดยการถ่ายรูป ซึ่งเป็นการใช้กล้องถ่ายรูป หรือเครื่องมืออีเล็กโทรนิกส์อื่น ๆ ที่สามารถถ่ายรูปจากที่สูงได้ แล้วนำข้อมูลจากภาพถ่ายไปตีความหมาย เพื่อนำไปทำแผนที่ต่อไป

9. การสำรวจทาง Remote Sensing เพื่อทำแผนที่

เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ร่วมกับเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ก็ได้รับการประยุกต์เข้ากับงานแผนที่ ทั้งนี้จะเห็นว่าในกิจการทุกสาขาต้องมีแผนที่เป็นเครื่องนำทาง จึงได้มีการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายจากดาวเทียมนำมาใช้ในการทำแผนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในการสำรวจทรัพยากร ซึ่งจะได้ผลงานรวดเร็วกว่า ทันสมัยกว่า ถูกต้องและประหยัดกว่า

การย่อและขยายแผนที่

การย่อหรือขยายแผนที่ คือการเปลี่ยนแปลงขนาดของแผนที่ให้เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นตามขนาดที่ต้องการเพื่อสะดวกในการใช้งาน

หลักในการย่อและขยายแผนที่



1. การย่อและขยายแผนที่โดยถือขนาดกว้างยาวของแผนที่เป็นหลัก

ในการย่อหรือขยายขนาดกว้างและยาวของแผนที่นี้ ระยะกว้างและยาวในแผนที่ก็จะลดหรือเพิ่มตามอัตราส่วนของการย่อและขยายด้วย ซึ่งเราหาได้โดยนำจำนวนเท่าที่ย่อหรือขยายไปหารหรือคูณระยะกว้างและยาวของแผนที่

2. การย่อและขยายแผนที่โดยถือระยะทางเป็นหลัก

การย่อหรือขยายระยะทางในแผนที่ก็ทำโดยวิธีเดียวกับการย่อหรือขยายด้านของแผนที่ ทั้งนี้เพราะระยะทางจะยาวขึ้นหรือสั้นลงย่อมเป็นไปตามอัตราส่วนเดียวกับการย่อและขยายด้าน ทั้งนี้เพราะด้านหรือระยะทางเป็นระยะที่มีมิติเดียว คือให้ด้านความยาว - สั้นเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพื้นที่ สรุปเป็นสูตรได้ว่า

ถ้าขยายระยะทาง ระยะใหม่เท่ากับระยะเดิมคูณด้วยจำนวนเท่าที่ต้องการขยาย

ถ้าย่อระยะทาง ระยะใหม่เท่ากับระยะเดิมหารด้วยจำนวนเท่าที่ต้องการย่อ

3. การย่อและขยายแผนที่โดยถือมาตราส่วนเป็นหลัก

การย่อหรือขยายมาตราส่วนของแผนที่นั้นเป็นการย่อหรือขยายในแนวเส้นตรงโดยไม่ต้องพิจารณาถึงพื้นที่ว่าจะย่อหรือขยายไปเท่าไร ดังนั้นเช่นเดียวกับการหาด้าน คือ การขยายมาตราส่วนหาได้จากการใช้จำนวนเท่าคูณกับมาตราส่วนเดิม (หรือคือนำจำนวนเท่าหารส่วนของมาตราส่วนเดิม)

4. การย่อและขยายแผนที่โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก

การย่อและขยายพื้นที่ของแผนที่แตกต่างไปจากการย่อและขยายด้านกว้างยาวหรือระยะทางหรือมาตราส่วนของแผนที่ เพราะสิ่งเหล่านี้เราคำนึงถึงในเรื่องระยะยาวสั้นเป็นหลัก แต่การย่อและขยายพื้นที่ของแผนที่นั้น เราต้องคำนึงถึงพื้นที่ก่อน โดยพิจารณาว่าพื้นที่ของแผนที่ฉบับเดิมเป็นเท่าไร เมื่อย่อหรือขยายแล้วพื้นที่ฉบับใหม่เป็นเท่าไร แล้วจึงมาคำนวณหาระยะของด้านกว้างยาวและมาตราส่วนภายหลัง

5. การย่อและขยายแผนที่โดยอาศัยวิธีทางเรขาคณิต

5.1 วิธีจตุรัสมาตราฐาน ( The Method of Squares ) ในแผนที่บางชนิดจะปรากฏเส้น

กริดเป็นตารางจตุรัสอยู่แล้ว หรืออาจมีระบบเส้นขนานและเมอริเดียนเป็นจตุรัสปรากฏอยู่ แต่ถ้าไม่มีเราก็สามารถสร้างขึ้นเองลงบนแผนที่ หรือ สร้างบนแผ่นกระดาษลอกลาย หรือบนแผ่นพลาสติกใส เพื่อนำไปวางทาบบนแผนที่ เพื่อเป็นการป้องกันแผนที่ชำรุด จากนั้นสร้างจัตุรัสในลักษณะเดียวกันโดยให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงตามขนาดที่ต้องการ แล้วจึงลอกรายละเอียดที่มีอยู่ในจตุรัสของแผนที่เดิมลงในจตุรัสของแผนที่ใหม่ โดยใช้สายตาดูรายละเอียดตารางต่อตาราง

5.2 วิธีใช้สามเหลี่ยมคล้าย ( The Method of Similar Triangles ) วิธีนี้มักใช้สำหรับย่อหรือขยาย พื้นที่เป็นแนวบริเวณแคบ ๆ เช่น ตามแนวถนน แม่น้ำ ทางรถไฟ

5.3 โดยอาศัยการลากเส้นทแยงมุมขึ้นบนแผนที่

6. การย่อและขยายโดยอาศัยเครื่องมือ

การย่อและขยายแผนที่ในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องมือช่วยเพราะสะดวกและรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงโอกาสและปัจจัยด้วย ตัวอย่างเครื่องมือที่ย่อและขยายที่ใช้ได้ง่าย ๆ เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เครื่องฉายภาพทึบแสง กล้องถ่ายรูปและเครื่องแพนโตกราฟ เป็นต้น

การอ่านและการใช้แผนที่

* วิธีการกำหนดตำแหน่งในแผนที่
1. ระบบอ้างอิงในการกำหนดตำแหน่งและการบอกตำแหน่งของจุดใดๆ ในแผนที่

1. พิกัดภูมิศาสตร์ (Geographic Coordinates) เป็นระบบอ้างอิงบนพื้นผิวพิภพ ตำแหน่งของจุดใดๆ บนพื้นผิวพิภพสามารถกำหนดได้ด้วยค่าละติจูด( Latitude ) และลองจิจูด ( Longitude ) โดยมีหลักการและวิธีการ ดังนี้



ก) ละติจูด

1. เส้นรอยตัดบนพื้นผิวพิภพที่เกิดจากการสมมติใช้พื้นราบตัดพิภพโดยให้พื้นราบนั้นตั้งได้ฉากกับแกนหมุนของพิภพเสมอ เส้นรอยตัดดังกล่าวนั้นคือเส้นละติจูด นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ เส้นขนาน”
2. ละติจูดศูนย์องศา คือ เส้นรอยตัดบนพื้นผิวพิภพ ที่เกิดจากพื้นราบที่ตั้งได้ฉากกับแกนหมุนตัดผ่านจุดศูนย์กลางของพิภพ เส้นรอยตัดเส้นนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เส้นศูนย์สูตร” (Equator) ซึ่งเป็นวงขนานละติจูดวงใหญ่ที่สุด
3. ค่าละติจูดของวงละติจูดใด คือ ค่ามุมที่จุดศูนย์กลางของพิภพนับไปตามพื้นราบที่บรรจุแกนหมุนของพิภพ เริ่มจากพื้นศูนย์สูตรถึงแนวเส้นตรงที่ลากจากจุดศูนย์กลางพิภพไปยังวงละติจูตนั้น
4. ที่จุดขั้วเหนือของพิภพมีค่าละติจูดเท่ากับ 90 องศาเหนือ และที่จุดขั้วใต้ของพิภพมีค่าละติจูดเท่ากับ 90 องศาใต้
5. เนื่องจากพื้นของวงละติจูดศูนย์องศา หรือพื้นศูนย์สูตร เป็นพื้นที่ตัดผ่านจุดศูนย์กลางของพิภพ วงศูนย์สูตรจึงถูกเรียกว่า “วงกลมใหญ่” ส่วนละติจูดอื่นๆ เป็นวงกลมเล็ก วงละติจูตจะมีขนาดเล็กลงๆ เมื่อห่างวงศูนย์สูตรออกไปจนกระทั่งกลายเป็นจุดที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
6. ระยะห่างระหว่างเส้นละติจูด 1 องศา คิดเป็นระยะทางบนผิวพิภพประมาณ 111 กิโลเมตร (69 ไมล์) และ 1 พิลิปดา มีระยะห่างประมาณ 30.48 เมตร (100 ฟุต)



ข) ลองจิจูด

1. เส้นรอยตัดบนพื้นผิวพิภพที่เกิดจากการสมมติใช้พื้นราบตัดพิภพ โดยให้พื้นราบผ่านแนวแกนหมุนของพิภพ เส้นรอยตัดบนพื้นผิวพิภพดังกล่าวเรียกว่า เส้นลองจิจูดหรือเส้นเมริเดียน ( Meridian)
2. ลองจิจูดศูนย์องศา คือเส้นลองจิจูดที่ผ่านหอส่งดาว ณ เมืองกรีนิส (Greenwich) ในประเทศอังกฤษ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมริเดียนหลัก ( Prime Meridian)
3. การกำหนดค่าลองจิจูด คือค่าง่ามมุมที่จุดศูนย์กลางพิภพบนพื้นศูนย์สูตรโดยใช้แนวเส้นตรงที่ลากจาก จุดศูนย์กลางพิภพมายังเมริเดียนหลักเป็นแนวเริ่มนับค่าง่ามมุมไปทางตะวันออก 180 องศา เรียกว่า ลองจิจูดตะวันออก และนับค่าง่ามมุมไปทางตะวันตก 180 องศา เรียกว่า ลองจิจูดตะวันตก เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาตะวันออกและตะวันตกเป็นเส้นเดียวกัน
4. ลองจิจูดทุกเส้นเป็นส่วนโค้งของวงกลมใหญ่(Great Circle)
5. ระยะห่างระหว่างเส้นลองจิจูด 1 องศา ตามเส้นศูนย์สูตร คิดเป็นระยะทางประมาณ 111 กิโลเมตร (69 ไมล์) และ 1 พิลิปดา มีระยะห่างประมาณ 30.48 เมตร (100 ฟุต) แต่เนื่องจากเส้นลองจิจูตทุกเส้นจะไปบรรจบกันที่จุดขั้วเหนือและขั้วใต้ของพิภพ ดังนั้น ระยะห่างระหว่างเส้นลองจิจูดจึงน้อยลงๆ เมื่อยิ่งห่างจากเส้นศูนย์สูตรออกไป

ค) วิธีการบอกตำแหน่งของจุดใดๆ ในแผนที่เป็นค่าพิกัดภูมิศาสตร์

1. พิกัดภูมิศาสตร์ จะมีแสดงไว้บนแผ่นแผนที่มาตรฐานทั่วๆ ไปและแผนที่บางชนิดมีเฉพาะระบบนี้เท่านั้น ที่ใช้ในการบอกตำแหน่งของจุดใดๆ ในแผนที่
2. เส้นขอบระวาง( neat lines) ของแผนที่ภูมิประเทศแบบมาตรฐานซึ่งผลิตขึ้นใช้ในประเทศไทยปัจจุบัน และที่นิยมใช้กันอยู่เกือบทั่วโลกขณะนี้ เส้นขอบบนและเส้นขอบล่างเป็นเส้นละติจูด เส้นด้านข้างทั้งสองเส้นเป็นเส้นลองจิจูดค่าของเส้นละติจูดและลองติจูดจะมีกำกับไว้ที่มุมทั้ง 4 ของขอบระวางแผนที่ ตามแนวเส้นขอบระวางแผนที่จะแสดงขีดส่วนแบ่งย่อยของค่าละติจูดและลองติจูดไว้ทั้งสี่ด้าน ถ้าต่อแนวเส้นตรงของขีดส่วนแบ่งย่อยดังกล่าวที่อยู่ตรงข้ามทั้ง 4 ด้าน เข้าไปภายในของระวางแผนที่แล้วจะพบเครื่องหมายกากบาทอันเป็นส่วนตัดกันของขีดส่วนแบ่งย่อยละติจูดและลองติจูด ความห่างของขีดส่วนแบ่งย่อยละติจูดและลองติจูดจะเป็นเท่าไรขึ้นอยู่กับขนาดมาตราส่วนของแผนที่

2. พิกัดกริด (Grid Coordinates)

พิกัดกริดเป็นพิกัดตารางสี่เหลี่ยมประกอบด้วยเส้นตรง 2 ชุด คือ เส้นตรงขนานกันในแนวนอนและเส้นตรงขนานกันในแนวตั้ง เส้นตรงทั้ง 2 ชุดนี้จะตัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก

เส้นตรงขนานดังกล่าวจะพิมพ์ไว้บนแผ่นแผนที่ ที่เรียกว่า เส้นกริด แต่ละเส้นมีตัวเลขแสดงค่าพิกัดกริดนับจากจุดศูนย์กำเนิด( Origin) ของระบบพิกัดกริดนั้น ขนาดระยะห่างระหว่างเส้น

กริดคู่หนึ่งๆ ย่อมคงที่เสมอและจะมีระยะจริงตรงกับภูมิประเทศเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดมาตราส่วนของแผนที่ที่ผลิตขึ้นใช้ จุดศูนย์กำเนิดของระบบพิกัดกริดจะใช้ศูนย์กำเนิดจริง

(True Origin) หรือศูนย์กำเนิดสมมติ (False Origin) ย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละระบบ

ระบบพิกัดกริดมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะพิกัดกริดที่นิยมใช้ในกิจการทหาร ( Military Grid) ยุคปัจจุบันนี้เท่านั้น

ก. พิกัดกริดยูนิเวอร์ซัลทรานสเวอร์สเมอร์เคเตอร์ (Universal Transverse Mercator Grid) แผนที่มาตราส่วนใหญ่และมาตราส่วนปานกลางที่ใช้ในกิจการทหารส่วนมาก นอกจากจะมีระบบพิกัดภูมิศาสตร์ ( Geographic Coordinates) แล้วยังมีระบบกริดที่ใช้ช่วยในการกำหนดตำแหน่งและใช้อ้างอิงในการบอกตำแหน่งอีกด้วย การบอกตำแหน่งโดยอาศัยระบบกริดมีส่วนดีและสะดวกกว่าใช้ระบบพิกัดภูมิศาสตร์ เพราะตารางกริดมีขนาดเท่ากันและรูปร่างเหมือนกันทุกตาราง และพิกัดกริดให้ค่าเป็นระยะทางซึ่งง่ายแก่การกำหนดดีกว่าค่าง่ามมุม ระบบ UTM กริด มีลักษณะโดยย่อดังนี้

(1) ใช้ร่วมกับโปรเจคชั่นแบบ TRANSVERSE MERCATOR( Gauss Kruger) โดยแบ่งพิภพออกเป็นโซนละ 6 องศา ตามลองจิจูด โซนที่ 1 อยู่ระหว่างลองจิจูด 180 องศาตะวันตก กับลองจิจูด 174 องศาตะวันตก นับต่อเนื่องไปทางตะวันออกรอบพิภพรวม 60 โซน ซึ่งโซนที่ 60 จะอยู่ระหว่างลองจิจูด 174 องศาตะวันออกกับลองจิจูด 180 องศาตะวันออก

(2) สำหรับประเทศไทยใช้รัศมีของพิภพตามค่า Equatorial semi-axis a = 6,377,276.34518 เมตร ของ EVEREST SPHEROID

(3) ระบบพิกัด UTM กริด คลุมบริเวณตั้งแต่ละติจูด 80 องศาใต้ ถึงละติจูด 84 องศาเหนือ

(4) หน่วยที่ใช้ในการวัดเป็นเมตร โดยมีจุดศูนย์กำเนิดอยู่ที่จุดตัดกันระหว่างเส้นศูนย์สูตรกับเส้นเมริเดียนย่านกลาง ( Central Meridian) ของแต่ละโซน

(5) ค่าพิกัดมี 2 ค่า คือ พิกัดทางเหนือ (Northing) ใช้อักษรย่อว่า N และ พิกัดทางตะวันออก (Easting) ใช้อักษรย่อว่า E

(6) ค่าพิกัดของจุดศูนย์กำเนิดของแต่ละโซนเป็นค่าพิกัดสมมติเพื่อหลีกเลี่ยงค่าพิกัดที่เป็นลบ โดยกำหนดให้

* พิกัดของจุดศูนย์กำเนิดของแต่ละโซนทางซีกโลกเหนือ

False northing = 0 เมตร

False easting = 500, 000 เมตร

* พิกัดของจุดศูนย์กำเนิดของแต่ละโซนทางซีกโลกใต้

False northing = 10,000,000 เมตร

False easting = 500, 000 เมตร

(7) แต่ละโซนมีขนาดพื้นที่เท่ากัน แผนที่ที่คลุมบริเวณของแต่ละโซนมีขนาดเท่ากัน สำหรับแผนที่มาตราส่วนใหญ่จะมีส่วนเหลื่อมล้ำกันออกไปสองข้างรอยต่อโซนข้างละ 30 ลิปดา หรือ 25 ไมล์ เพื่อประโยชน์ในงานสำรวจด้านวิศวกรรมและการตรวจการยิงของปืนใหญ่

(8) เส้นกริดในทางตั้งจะขนานกับเมริเดียนย่านกลางของแต่ละโซน ส่วนเส้นกริดทางแนวนอนจะขนานกับเส้นศูนย์สูตร
(9) การกำหนดโซนของกริด (Grid Zone Designation)
* ระหว่างละติจูด 80 องศาใต้กับละติจูด 84 องศาเหนือแบ่งออกเป็น 20 ส่วนๆ ละ 8 องศา เฉพาะส่วนบนสุดเท่านั้นที่มีขนาด 12 องศา แต่ละส่วนใช้อักษรกำกับ เริ่มจากอักษร C ที่เป็นส่วนใต้สุด (ระหว่างละติจูด 80-72 องศาใต้) ขึ้นไปตามลำดับถึงอักษร X ยกเว้นอักษร I กับ O
* ระหว่างลองจิจูด 180 องศาตะวันตกเวียนไปทางตะวันออกถึงลองจิจูด 180 องศาตะวันออก แบ่งออกเป็น 60 ส่วนๆ ละ 6 องศา แต่ละส่วนใช้ตัวเลขกำกับ เริ่มส่วนที่ 1 ระหว่างลองจิจูด 180 องศาตะวันตกกับ 174 องศาตะวันตก นับไปทางตะวันออก จนถึงส่วนที่ 60 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายอยู่ระหว่างลองจิจูด 174 องศาตะวันออกกับ 180 องศาตะวันออก (ลองจิจูด 180 องศาตะวันตกกับลองจิจูด 180 องศาตะวันออกเป็นเส้นเดียวกัน)

(10) การกำหนดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแสนเมตร(100,000 meter square identification ) - เริ่มจากลองจิจูด 180 องศาตะวันตกนับไปตามเส้นศูนย์สูตรไปทางตะวันออกทุกๆ ระยะ 100,000 เมตร ให้อักษรกำกับ เริ่มจากอักษร A ถึง Z ยกเว้นอักษร I กับ O จะมีชุดตัวอักษรซ้ำกันทุกๆ 8 องศา หรือ 3 โซน

- ตามแนวเหนือ-ใต้ ซีกโลกภาคเหนือเฉพาะโซนหมายเลขคี่ เริ่มจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปทุกๆ ระยะ 100,000 เมตร ให้ตัวอักษรกำกับเริ่มจากอักษร A ขึ้นไป ตามลำดับถึงอักษร V ยกเว้น I กับ O ส่วนโซนหมายเลขคู่เริ่มนับจากจุดที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรลงไป 500,000 เมตร ระยะ 100,000 เมตรแรกใช้อักษร A กำกับและให้อักษรกำกับทุกๆ ระยะ 100,000 เมตรขึ้นมาตามลำดับจนถึงอักษร V ยกเว้นอักษร I กับ O จะมีชุดอักษรซ้ำกันทุกๆ ระยะ 2,000,000 เมตร
(11) การบอกค่าพิกัดกริดของระบบ UTM กริดที่สมบูรณ์จะต้องบอกตามลำดับดังต่อไปนี้

(ก) บอกให้ทราบชื่อโซนของกริด ( Crid Zone Designation ) เช่น 3P

(ข) บอกให้ทราบชื่อรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแสนเมตร เช่น ( 100,000 meter square identification) เช่น MN

(ค) บอกค่าพิกัดกริดของจุดที่พิจารณา ตามขนาดความละเอียดที่ต้องการ เช่น

24, 2142, 218427, 21834279………..
(12) การบอกค่าพิกัด UTM กริดของจุดใดๆ ขณะปฏิบัติการในโซนเดียวกัน เพื่อความรวดเร็วนิยมบอกเป็นค่าพิกัด E และ N เฉพาะหลักหมื่น หลักพัน (ซึ่งในแผนที่ 1: 50,000 ชุด L 708 และ L 7017 จะพิมพ์ไว้เป็นตัวเลขใหญ่กำกับเส้นกริด) และหลักร้อยซึ่งประมาณได้ในแผนที่ เช่น 218427

218 คือค่า E ( 8 คือ หลักร้อยที่ประมาณได้)

427 คือค่า N ( 7 คือ หลักร้อยที่ประมาณได้)

(13) การบอกค่าพิกัดของระบบ UTM กริดของจุดใดๆ ในโซนเดียวกันซึ่งต้องการค่า E และ N ที่สมบูรณ์ จะต้องเขียนให้ครบตามค่าพิกัดที่นับจากศูนย์สมมติ เช่น

พิกัดของจุด ก.
E = 748,600 เมตร
N = 1,546,415 เมตร

พิกัดของจุด ข.
E = 801,502 เมตร
N = 1,643,712 เมตร

(14) ปกติเส้นกริดของระบบ UTM จะมีค่าประจำอยู่ทุกเส้นระยะระหว่างเส้นสามารถอ่านประมาณได้ใกล้เคียงถึง 1/10 ของระยะห่างระหว่างเส้นกริดนั้น ถ้าต้องการอ่านให้ละเอียดถูกต้องกว่านั้นก็จำเป็นต้องใช้ Coordinate Scale ช่วยในการอ่านในรูปที่แสดงไว้จะเห็นตัวอย่างของ Coordinate Scale ที่ใช้อ่านพิกัดกริดของแผนที่มาตราส่วนต่างๆ ซึ่งผู้ใช้แผนที่สามารถสร้างขึ้นใช้เองได้

ข. พิกัดยูนิเวอร์ซัลโพล่าร์ สเตริโอกราฟฟิค( The Universal Polar Stereographic Grid) ระบบ UPS มีลักษณะโดยย่อดังต่อไปนี้
1. ใช้ร่วมกับโปรเจคชั่นแบบ Polar Stereographic
2. ระบบพิกัด UPS คลุมบริเวณตั้งแต่ละติจูด 84 องศาเหนือขึ้นไปถึงขั้วโลกเหนือและบริเวณตั้งแต่ละติจูด 80 องศาใต้ ลงไปถึงขั้วโลกใต้ ซึ่งเป็นบริเวณพื้นผิวพิภพที่ไม่ได้ถูกครอบคลุมด้วยระบบ UTM
3. ลักษณะเส้นกริดของระบบ UPS คล้ายกับลักษณะเส้นกริดของ UTM คือ ประกอบด้วยเส้นตรงขนานสองชุดตัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก แต่เส้นกริดในแนวยืนระบบ UPS ขนานกับเส้นลองจิจูด 0 และ 180 องศา เส้นกริดในแนวนอนขนานกับเส้นลองจิจูด 90 องศา
4. ศูนย์กำเนิดของเส้นกริดอยู่ ณ ขั้วของพิภพ โดยสมมติให้มีค่า EASTING =2,000,000 เมตร และค่า NORTHING = 2,000,000 เมตร
5. การกำหนดโซนของกริด ( Grid Zone Designation) ใช้เส้นลองจิจูด 0 และ 180 องศา เป็นเส้นแบ่งพื้นที่บริเวณขั้วโลกที่ระบบนี้ครอบคลุมอยู่ออกเป็นสองส่วน เป็นส่วนตะวันตกและส่วนตะวันออก ทางขั้วโลกเหนือใช้อักษร Y และ Z กำกับ ส่วนทางขั้วโลกใต้ใช้อักษร A และ B กำกับ

ค. The World Geographic Reference System (GEOREF) GEOREF เป็นระบบอ้างอิงที่ใช้ในการกำหนดตำแหน่งที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้ ซึ่งสามารถใช้ได้กับแผนที่ใดๆ ที่มีค่าละติจูดและลองจิจูดกำกับอยู่ด้วย ระบบยีออเรฟมีกฎการแบ่งที่สามารถจดจำได้ง่ายๆ ดังนี้

(1) แบ่งผิวพิภพตามค่าลองจิจูดออกเป็น โซน(zone) โซนละ 15 องศา เริ่มโซนแรกระหว่างลองจิจูด 180 องศา กับ 165 องศา ตะวันตก นับเวียนไปทางตะวันออกได้ 24 โซนให้อักษรประจำโซน เริ่มตั้งแต่อักษร A ถึง Z ยกเว้นอักษร I กับ O

(2) แบ่งผิวพิภพตามค่าละติจูดออกเป็นแถบ ( band ) แถบละ 15 องศา เริ่มจากขั้วโลกใต้ไปหาขั้วโลกเหนือได้ 12 แถบ ให้อักษรประจำแถบ เริ่มตั้งแต่อักษร A ถึงอักษร M ยกเว้นอักษร I

(3) การแบ่งตามข้อ (1) และ (2) จะทำให้ผิวพิภพถูกแบ่งออกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งกั้นด้วยละติจูดและลองจิจูด ห่างกัน 15 องศา รวมทั้งสิ้น 288 รูป แต่ละรูปมีอักษร 2 ตัว กำกับ การอ่านอักษรประจำรูปสี่เหลี่ยมคงถือหลักการอ่านจากซ้ายไปขวาแล้วขึ้นบน ( Read Right-Up)

(4) แบ่งรูปสี่เหลี่ยม15 องศา X 15องศา ตามที่กล่าวแล้วในข้อ (3) นั้นออกเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อยขนาด 1 องศา X 1 องศา จำนวน 225 รูป คือ แบ่งตามลองจิจูดออกเป็นโซนละ 1 องศา ได้ 15 โซน ให้อักษรประจำโซนเริ่มจากตะวันตกไปตะวันออก ตั้งแต่อักษร A ถึงอักษร Q ยกเว้นอักษร I กับ O และแบ่งตามละติจูตออกเป็นแถบละ 1 องศา ได้ 15 แถบให้อักษรประจำแถบ เริ่มจากใต้ไปเหนือ ตั้งแต่ อักษร A ถึงอักษร Q ยกเว้นอักษร I กับ O ดังนั้นการบอกตำแหน่งของรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1 องศา X 1 องศา นี้จึงบอกเป็นตัวอักษรสี่ตัว คือ อักษรสองตัวแรกเป็นอักษรประจำรูปสี่เหลี่ยม ขนาด 15 องศา X 15 องศา ที่รูปสี่เหลี่ยมขนาด 1 องศา X 1 องศา ประจำอยู่และอักษรสองตัวหลังเป็นอักษรประจำรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1 องศา X 1 องศา เอง

(5) ในรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1 องศา X 1 องศา ดังกล่าวแล้วในข้อ (4) นั้น แบ่ง ออกเป็นรูปเหลี่ยมขนาด 1 ลิปดา X 1 ลิปดา จำนวน 3,600 รูปคือ แบ่งตามลองจิจูด จากตะวันตกไปทางตะวันออกโซนละ 1 ลิปดา ได้ 60 โซน ให้ตัวเลขประจำโซนเริ่มด้วย 00, 01 ……….. ถึง 59 และแบ่งตามละติจูดจากใต้ไปเหนือเป็นแถบละ 1 ลิปดา ได้ 60 แถบ ให้ตัวเลขประจำแถบเริ่มด้วยเลข 00,01 ……….. ถึง 59 การอ่านค่าคงถือหลักอ่านจากซ้ายไปขวาแล้วขึ้นบนเช่นเดียวกัน ดังนั้นการกำหนดตำแหน่งของรูปสี่เหลี่ยมขนาด1 ลิปดา X 1 ลิปดา จึงบอกเป็นค่าที่ประกอบด้วยตัวอักษรสี่ตัวและเป็นตัวเลขสี่ตัว

(6) ในรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1 ลิปดา X 1 ลิปดา ดังกล่าวแล้วในข้อ (5) สามารถที่จะแบ่งออกไปได้ด้านละ 10 ส่วน ทั้งตามค่าละติจูดและค่าลองติจูด ส่วนหนึ่งๆ จึงมีค่าเท่ากับ 0.1 ลิปดา สรุปแล้วการกำหนดค่าของจุดใดๆ ในระบบ GEOREF จึงกำหนดเป็นค่าพิกัดที่ประกอบด้วยตัวอักษร 4 ตัว และ ตัวเลข 6 ตัว โดยอาศัยหลักการอ่านจากซ้ายไปขวาแล้วขึ้นบน
3. การกำหนดตำแหน่งในแผนที่ เมื่อใช้แผนที่ในภูมิประเทศ

เมื่อนำแผนที่ไปใช้ในภูมิประเทศ สิ่งที่ผู้ใช้แผนที่ควรจะต้องทราบและสามารถปฎิบัติได้ซึ่งถือเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ใช้แผนที่ มีอยู่ 3 เรื่อง ดังนี้
1) การวางแผนที่ให้ถูกทิศทาง การวางแผนที่ให้ถูกทิศทางเป็นการปฎิบัติขั้นแรกของการใช้แผนที่ในภูมิประเทศเมื่อแผนที่ถูกวางให้ถูกทิศทางแล้ว ทิศเหนือในแผนที่จะชี้ไปทางทิศเหนือในภูมิประเทศ ทิศทางของรายละเอียดใดๆ ที่มีแสดงไว้ในแผนที่ก็จะอยู่ในทิศทางที่สมจริงกับรายละเอียดที่ตรงกันซึ่งปรากฏอยู่ในภูมิประเทศ

ก) วิธีวางแผนที่ให้ถูกทิศทางที่สามารถกระทำได้เร็วที่สุด คือ วิธีการใช้เข็มทิศ โดยวางเข็มทิศให้ขอบตลับเข็มทิศทาบขนานไปตามแนวทิศเหนือในแผนที่ หมุนแผนที่ซึ่งมีตลับเข็มทิศวางทาบทับอยู่นั้นไปจนกว่าปลายเข็มทิศแม่เหล็กจะชี้ตรงเครื่องหมายแสดงทิศเหนือในตลับเข็มทิศ ขณะหมุนแผนที่จะต้องคอยระวังอย่าให้ขอบตลับเข็มทิศเคลื่อนจากแนวทิศเหนือของแผนที่

ข) ในกรณีที่ไม่มีเข็มทิศใช้ก็สามารถวางแผนที่ให้ถูกทิศได้ โดยอาศัยการวางแผนที่ให้รายละเอียดที่มีอยู่ในแผนที่ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันกับรายละเอียดที่ตรงกัน ซึ่งปรากฏอยู่ในภูมิประเทศ เพื่อความมั่นใจในการจัดวางโดยวิธีนี้ควรจะใช้รายละเอียดที่เห็นเด่นชัดอย่างน้อย 2 ที่หมาย

ค)ในกรณีที่ไม่มีรายละเอียดในภูมิประเทศเพียงพอหรือมีแต่ไม่สามารถใช้เป็น ที่หมายในการจัดวางแผนที่ให้ถูกทิศทางได้ก็จำเป็นต้องใช้วิธีหาแนวทิศเหนือ ในภูมิประเทศ ซึ่งจะได้อธิบายไว้ในเรื่องการหาทิศทางโดยอาศัยธรรมชาติช่วยในตอนต่อไป เมื่อกำหนดแนวทิศเหนือในภูมิประเทศได้แล้วก็สามารถวางแผนที่ให้ทิศเหนือใน แผนที่ชี้ไปทางทิศเหนือในภูมิประเทศได้

2) การหมายจุดที่อยู่ของตัวผู้ใช้ลงในแผนที่ ผู้ใช้แผนที่ในภูมิประเทศจะต้องทราบอยู่ตลอดเวลาว่าขณะที่ตนอยู่ในภูมิประเทศนั้นอยู่ตรงจุดใดในแผนที่ วิธีหมายจุดที่อยู่ของตัวผู้ใช้ลงในแผนที่มีวิธีปฏิบัติได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของผู้ใช้ เครื่องมือและอุปกรณ์ ย่านเวลาและสิ่งแวดล้อมฯ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นวิธีการง่ายๆ ซึ่งผู้ใช้แผนที่โดยทั่วไปสามารถปฏิบัติได้

ก) วิธีหมายจุดที่อยู่ของตัวผู้ใช้ลงในแผนที่อย่างง่ายที่สุด คือ การตรวจสอบดูว่าใน ภูมิประเทศบริเวณใกล้เคียงที่ตนอยู่นั้นมีอะไรเป็นที่สังเกตได้บ้าง เช่น ทางร่วม ทางแยก ลูกเนิน หนอง คลอง บึง ชายป่า อาคาร ฯลฯ แล้วตรวจดูรายละเอียดที่ตรงกันในแผนที่ประมาณตำแหน่งลงไปให้ใกล้เคียงที่สุด

ข) วิธีเล็งสกัดกลับ (Resection) เป็นวิธีหมายจุดที่อยู่ของตัวผู้ใช้ลงในแผนที่วิธีหนึ่งซึ่งอาศัยแนวเล็งผ่านจุดที่กำหนดได้แน่นอน ซึ่งมีอยู่ตรงกันทั้งในแผนที่และใน ภูมิประเทศ 2 ทิศทาง ขีดแนวเล็งทั้งสองนั้นกลับมาตัดกัน จุดตัดกัน ของแนวเล็ง ดังกล่าวคือตำแหน่งของผู้ใช้แผนที่

3) การกำหนดตำแหน่งของที่หมายในภูมิประเทศลงในแผนที่ วิธีที่จะกำหนดตำแหน่งของที่หมายใดๆ ในภูมิประเทศลงไปในแผนที่ กระทำได้หลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะวิธีการง่ายๆ ซึ่งผู้ใช้แผนที่ทั่วไปสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

ก) วิธีที่ง่ายที่สุด คืออาศัยพิจารณารายละเอียดที่ปรากฏอยู่ใกล้ๆ โดยรอบที่หมายนั้นในภูมิประเทศ และรายละเอียดดังกล่าวมีแสดงไว้แล้วในแผนที่เป็นหลักประมาณระยะห่างและทิศ ทางเทียบเคียงแล้วก็กำหนดตำแหน่งของที่หมายลงไปในแผนที่ได้ทันที

ข) วิธีเล็งสกัดตรง( Intersection ) เป็นวิธีการกำหนดตำแหน่งของที่หมายใดๆ ในภูมิประเทศ ที่ไม่มีปรากฏอยู่ก่อนในแผนที่เพิ่มเติมลงในแผนที่ โดยอาศัยการเล็งแนวจากจุดที่กำหนดได้แน่นอนในแผนที่อย่างน้อย 2 จุด ไปยังที่หมายนั้น



* วิธีการพิจารณาลักษณะความสูงต่ำของพื้นผิวภูมิประเทศจากแผนที่

วิธีการแสดงลักษณะความสูงต่ำของพื้นผิวภูมิประเทศหลายวิธี แต่ละวิธีมีหลักการแสดงและวิธีการพิจารณาลักษณะความสูงต่ำและรูปแบบของพื้นผิวภูมิประเทศ ดังนี้

1. เส้นชั้นความสูง ( Contour Lines )

ก) เส้นชั้นความสูง คือ เส้นที่แสดงไว้ในแผนที่ โดยสมมติว่าเป็นเส้นที่ลากผ่านจุดบนพื้นผิวพิภพที่มีระดับความสูงเท่ากัน

ข) เส้นชั้นความสูง แสดงระยะตามแนวยืน เหนือหรือใต้พื้นหลักฐานการระดับตามปกติเส้นชั้นความสูงเส้นที่มีค่าเป็น ศูนย์อยู่ที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ( ใช้ระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นพื้นหลักฐานการระดับ ) ดังนั้นเส้นชั้นความสูงแต่ละเส้นที่มีค่าเป็นบวกจึงเป็นเส้นชั้นความสูงที่ แสดงค่าความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางและเส้นชั้นความสูงที่มีค่าเป็นลบ เป็นเส้นชั้นความสูงที่แสดงค่าความสูงใต้ระดับน้ำทะเลปานกลาง ระยะตามแนวยืนระหว่างเส้นชั้นความสูงเรียกว่า ช่วงห่างเส้นชั้นความสูง (Contour Interval) ค่าช่วงห่างระหว่างเส้นชั้นความสูงในแผนที่จะแจ้งไว้ในรายการนอกขอบระวาง แผนที่ลายเส้นซึ่งพิมพ์สีโดยทั่วไปจะพิมพ์เส้นชั้นความสูงเป็นสีน้ำตาล และทุกๆ ห้าเส้นจะเป็นเส้นหนากว่าปกติ เส้นดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า เส้นชั้นความสูงหลัก ( Index Contour) เส้นชั้นที่อยู่ระหว่างเส้นชั้นความสูงหลักเรียกว่า “ เส้นชั้นความสูงรอง” ( Intermediate Contours) เป็นเส้นที่บางกว่าและไม่มีตัวเลขแสดงค่ากำกับ

ค) การหาค่าความสูงของจุดใดๆ ในแผนที่ที่แสดงความสูงต่ำของพื้นผิวภูมิประเทศด้วยเส้นชั้นความสูง

ง) ในแผนที่บริเวณที่เส้นชั้นความสูงมีระยะห่างตามแนวนอนมาก เช่น บริเวณที่มีมุมของลาดน้อยหรือบริเวณที่ใกล้จะเป็นพื้นราบ ย่อมเป็นการยากที่จะประมาณค่าความสูงของจุดต่างๆ ให้ใกล้เคียงความจริงได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ผลิตแผนที่นิยมเขียน “ เส้นชั้นแทรก ” (Supplementary Contours) เพิ่มขึ้นในบริเวณนั้น เส้นชั้นแทรกที่เขียนขึ้นจะมีลักษณะเป็นเส้นประสีน้ำตาล แสดงค่า ครึ่งหนึ่งของช่วงห่างเส้นชั้นความสูง

จ) นอกจากจะแสดงลักษณะความสูงต่ำของพื้นผิวภูมิประเทศด้วยเส้นชั้นความสูงแล้ว ใน แผนที่แผ่นเดียวกันนั้นยังอาจมีหมุดหลักฐานการระดับหรือจุดที่บอกค่าความสูงอยู่ในบางบริเวณด้วย ตามปกติจะแสดงจุดที่บอกค่าความสูงไว้ตามยอดภูเขา ยอดเนิน คอเขา จมูกเขา ทางแยก และบริเวณที่เส้นชั้นความสูงอยู่ห่างกันมากๆ ฯลฯ

ฉ) ระยะห่างทางแนวนอนของเส้นชั้นความสูงและรูปแบบของเส้นชั้นความสูงแสดงให้เห็นถึงลักษณะความสูงต่ำและรูปแบบของพื้นผิวภูมิประเทศ

ช) การหาความลาดจากเส้นชั้นความสูง

ความลาด คือ อัตราส่วนของความต่างในทางระดับระหว่างจุด 2 จุด กับระยะตามแนวนอนระหว่างจุดสองจุดนั้น หรือ

ความลาด = ระยะตามแนวยืน / ระยะตามแนวนอน

ระยะตามแนวนอนระหว่างจุดสองจุดที่จะพิจารณาความลาด สามารถหาได้ด้วยการวัดระยะระหว่างจุด 2 จุดนั้นในแผนที่ด้วยบรรทัด แล้วแปลงเป็นระยะจริงในภูมิประเทศ หรืออ่านค่าพิกัดของจุดทั้งสองแล้วคำนวณหาระยะก็ได้

ระยะตามแนวยืนสามารถหาได้ด้วยการอ่านค่าจากเส้นชั้นความสูงของจุดทั้งสอง (จุดต้นและจุดปลายลาดที่พิจารณา) ตามวิธีหาค่าความสูงของจุดโดยอาศัยเส้นชั้นความสูงนำมาหักลบกันก็จะได้ความ สูงต่างหรือระยะตามแนวยืน(ระยะตามแนวนอนและระยะตามแนวยืนต้องเป็นหน่วยเดียว กัน)

2. แถบสี ( Layer Tinting )

ในแผนที่มาตราส่วนเล็กที่พิมพ์หลายสีมักจะใช้แถบสีแสดงระดับความสูงต่ำของพื้นผิว ภูมิประเทศโดยกำหนดแถบสีต่างๆ ตามช่วงของระดับความสูง เช่น บนภาคพื้นดิน ใช้สีเขียวแก่กับช่วงระดับ

ที่ต่ำสุด สูงขึ้นไปใช้สีเขียวอ่อน สีเหลือง สีเหลืองแก่ สีส้ม และ สีแดง ฯลฯ ตามลำดับ ในทะเลหรือมหาสมุทรบริเวณที่ตื้นที่สุดใช้สีขาว ลึกลงไปใช้สีน้ำเงินอ่อน และเพิ่มความเข้มของสีน้ำเงินขึ้นเรื่อยๆ ตามความลึกจนกระทั่งถึงสีน้ำเงินเข้มที่สุดที่ความลึกสุด เป็นต้น การใช้สีแสดงความสูงอาจใช้สีแตกต่างไปจากที่กล่าวมาแล้วทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ออกแบบแผนที่ที่จะคิดค้นสีขึ้นใช้ให้ผู้ใช้แผนที่มองเห็นลักษณะความสูงต่ำ ของผิวภูมิประเทศ สอดคล้องกับที่เป็นอยู่จริงตามธรรมชาติ

3. เส้นลายขวานสับ ( Hachures )

แผนที่ที่มีขนาดมาตราส่วนเล็กมากนิยมใช้เส้นลายขวานสับแสดงภาพของภูเขามาตั้งแต่

สมัยโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ลักษณะของเส้นลายขวานสับเป็นขีดสั้นๆ ปลายข้างหนึ่งหนาอีกข้างหนึ่งบาง คล้ายลอยปลายคมขวางที่สับลงบนแผ่นกระดาน นักแผนที่สมัยก่อนจึงนิยมเรียกลายขวานสับ ลายขวานสับจะใช้ร่วมกันเรียงเป็นแถว เป็นวงซ้อนๆ กัน แล้วแต่ลักษณะภูมิประเทศปลายด้านบางของลายขวานสับจะชี้ลงสู่ที่ต่ำ ลายขวานสับถ้าใช้แสดงภูเขาหรือลูกเนินเป็นวง ๆ ความถี่ของลายขวานสับจะมีมากบริเวณใกล้ยอดเขาและค่อยๆ ห่างออกสำหรับวงที่มีระดับต่ำลงมาตามลำดับ

4. เงา ( Shaded Relief) การให้เงาเป็นวิธีการหนึ่งของการแสดงลักษณะความสูงต่ำของพื้นผิวภูมิประเทศ หลักการให้เงา นิยมถือหลักว่ามีแสงส่องมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้านที่อยู่ตรงข้ามกับทิศทางที่แสงส่องจะเกิดเงาสีดำ ความต่างของความเข้มของเงาจะช่วยให้เห็นลักษณะความสูงต่ำที่แตกต่างกัน ที่สูงชันเงาจะเข้มมาก ถ้าเป็นที่ลาดเงาจะมีสีจาง

5. เส้นรูปลักษณะ ( Form Lines) เป็นเส้นที่เขียนขึ้นตามรูปลักษณะของลูกเนินหรือภูเขา มองดูคล้ายเส้นชั้นความสูง แต่เส้นรูปลักษณะไม่ได้ลากผ่านจุดที่มีความสูงเท่ากันไม่มีค่าสัมพันธ์กับพื้นหลักการระดับใดๆ แม้ว่าจะพยายามเขียนโดยมีแนวความคิดว่าให้ขนานกับพื้นระดับน้ำทะเลปานกลางก็ตาม แต่ก็เป็นไปโดยประมาณเท่านั้น จึงไม่สามารถจะหาค่าความสูงใดๆ จากเส้นรูปลักษณะได้มีประโยชน์เพียงให้นึกภาพความสูงต่ำของลักษณะภูมิประเทศบริเวณนั้นออกเท่านั้น

* วิธีหาระยะ

ก. ระยะ

ระยะในภูมิประเทศจริงนั้นมีอยู่ 3 ชนิดคือ

1) ระยะตามแนวนอน ( Horizontal Distance ) ได้แก่ ระยะห่างระหว่างสองจุดที่วัดไปตามแนวระดับ ( Horizontal Line )

2) ระยะตามแนวยืน ( Vertical Distance ) ได้แก่ ระยะห่างระหว่างจุดสองจุดที่วัดไปตามแนวเส้นดิ่ง ( Vertical Line )

3) ระยะตามลาด ( Slope Distance ) ได้แก่ ระยะห่างระหว่างจุดสองจุดที่วัดไปตามลาด ( Slope )

ข. ความสัมพันธ์ระหว่างมาตราส่วนของแผนที่กับระยะ

มาตราส่วนของแผนที่ ( Map Scale ) คือ อัตราส่วนการย่อพื้นผิวภูมิประเทศลงมาสร้างเป็นแผนที่ให้มีขนาดกระทัดรัดเหมาะสมแก่การนำไปใช้งาน ดังนั้นมาตราส่วนของแผนที่จะบอกให้ทราบถึงอัตราส่วนการย่อระยะตามแนวนอนในภูมิประเทศมาเป็นระยะในแผนที่ คือ

มาตราส่วนของแผนที่ = ระยะในแผนที่ / ระยะตามแนวนอนในภูมิประเทศ

ค. การหาระยะตามแนวนอนในภูมิประเทศจากแผนที่

1) หาระยะตามแนวนอนโดยอาศัยมาตราส่วนแบบเศษส่วน สามารถกระทำได้ด้วยการวัดระยะระหว่างจุดที่ต้องการทราบระยะบนแผนที่ด้วยบรรทัด ได้ระยะเท่าไรแล้วนำไปคูณกับตัวเลขที่เป็นส่วนของมาตราส่วนแผนที่

2) หาระยะตามแนวนอนโดยอาศัยมาตราส่วนแบบบรรทัด

การหาระยะตามแนวนอนในภูมิประเทศจากแผนที่โดยอาศัยมาตราส่วนแบบบรรทัด ( Graphic Scale or Bar Scale ) นั้น ไม่มีปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับการคำนวณเพราะตามปกติแล้วแผนที่ ภูมิประเทศแบบลายเส้นทั่ว ๆ ไปจะมีมาตราส่วนแบบบรรทัดพิมพ์ติดไว้ที่นอกขอบระวางด้านล่าง อย่างเช่นแผนที่ชุด L 7017 มีมาตราส่วนแบบบรรทัดพิมพ์ไว้ถึง 4 ชนิดตามหน่วยวัดความยาว คือ เป็นไมล์ เมตร หลา และไมล์ทะเล เพียงแต่ใช้วิธีการรังวัดเปรียบเทียบก็จะทราบระยะตามต้องการ

3) หาระยะตามแนวนอนในแผนที่ที่ไม่ปรากฏมาตราส่วน

ในกรณีที่ไม่ทราบมาตราส่วนของแผนที่ จำเป็นต้องหามาตราส่วนของแผนที่ให้ได้เสียก่อน แล้วจึงจะหาระยะระหว่างจุดใด ๆ ในแผนที่ดังกล่าวแล้วได้ การหามาตราส่วนของแผนที่สามารถกระทำได้ 2 วิธีดังนี้

ก) เปรียบเทียบระยะในแผนที่กับระยะในภูมิประเทศที่ตรงกัน

ข) เปรียบเทียบกับแผนที่แบบอื่นที่คลุมพื้นที่บริเวณเดียวกันและทราบมาตราส่วนแล้ว

4) หาระยะตามแนวนอนในภูมิประเทศจากแผนที่ โดยอาศัยล้อวัดระยะล้อวัดระยะเป็นเครื่องมือวัดระยะในแผนที่ ประกอบด้วยหน้าปัทม์บอกระยะ ลูกล้อเล็ก ๆ และด้ามถือบนหน้าปัทม์มีเข็มเล็ก ๆ คล้ายเข็มนาฬิกา ทำหน้าที่ชี้บอกระยะที่ลูกล้อเคลื่อนที่ไปตามแนวของระยะที่ต้องการวัด

* วิธีหาทิศทาง

1. หน่วยในการกำหนดทิศทาง

ตามปกติหน่วยในการกำหนดทิศทางเป็นค่าของง่ามมุม ซึ่งมีอยู่หลายระบบด้วยกัน เท่าที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบันมี 3 ระบบ คือ
1) องศา ( Degree ) เป็นหน่วยที่ใช้ในการกำหนดขนาดของง่ามมุมที่ใช้อยู่อย่างแพร่หลายที่สุด เครื่องมือที่สร้างขึ้นมาใช้ในการวัดมุมที่ต้องการความละเอียดถูกต้องสูง ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีหน่วยเป็นองศา ลิปดา และพิลิปดา โดยกำหนดให้มุมรอบจุดมีค่าเท่ากับ 360 องศา 1 องศามีค่าเท่ากับ 60 ลิปดา และ 1 ลิปดา มีค่าเท่ากับ 60 พิลิปดา

2) เกรด ( Grade ) เป็นหน่วยที่ใช้ในการกำหนดขนาดของง่ามมุมที่มีใช้อยู่ในงานสำรวจด้านวิศวกรรมและงานก่อสร้างบางแห่ง โดยกำหนดให้มุมรอบจุดมีค่าเท่ากับ 400 เกรด ซึ่งเป็นหน่วยลงตัวง่ายๆ

3) มิล ( Mil ) เป็นหน่วยที่ใช้ในการกำหนดขนาดของง่ามมุมในกิจการทหารบางสาขา เช่น การบอกที่หมายเพื่อการยิงอาวุธของทหารราบ หรือการตั้งยิงและปรับมุมยิงของปืนใหญ่ เป็นต้น โดยกำหนดให้มุมรอบจุดมีค่าเท่ากับ 6,400 มิล
2. เส้นฐานสำหรับกำหนดทิศทาง ( Direction base lines )

การวัดสิ่งต่าง ๆ ย่อมต้องมีจุดเริ่มต้น การวัดทิศทางก็ต้องมีแนวเริ่มหรือแนวทิศทางที่เป็นศูนย์ ซึ่งเรียกว่า "เส้นฐานสำหรับกำหนดทิศทาง" ที่ใช้เป็นสากลอยู่ในปัจจุบันนิยมใช้แนวทิศเหนือเป็นทิศหลักซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด คือ

1. ทิศเหนือจริง ( True North ) ได้แก่ แนวที่ลากจากจุดใดจุดหนึ่งบนพื้นผิวพิภพไปสู่จุดขั้วโลกเหนือ เส้นลองจิจูดทุกเส้นชี้ไปในทิศทางของทิศเหนือจริง แนวทิศเหนือจริงในแผนที่ภูมิประเทศที่ใช้เป็นแผนที่มูลฐาน ปัจจุบันใช้รูปดาวเป็นเครื่องหมาย
2. ทิศเหนือแม่เหล็ก ( Magnetic North ) คือ แนวทิศเหนือที่กำหนดขึ้นโดยใช้เข็มทิศแม่เหล็กในแผนที่ภูมิประเทศที่ใช้เป็นแผนที่มูลฐานปัจจุบัน ใช้รูปหัวลูกศรซีกเดียวเป็นเครื่องหมายแสดงแนวทิศเหนือแม่เหล็ก
3. ทิศเหนือกริด ( Grid North ) คือ แนวทิศเหนือที่ขนานกับเส้นกริดในทางตั้ง ในแผนที่ภูมิประเทศที่ใช้เป็นแผนที่มูลฐานปัจจุบันใช้อักษร GN เป็นเครื่องหมายกำกับแนวทิศเหนือกริด

3. อาซีมุทและอาซีมุทกลับ ( Azimuth and Back Azimuth)

1. วิธีกำหนดทิศทางที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน คือการใช้ค่าอาซีมุท อาซีมุท คือ ค่าของมุมราบที่นับเวียนตามเข็มนาฬิกาจากเส้นฐานสำหรับกำหนดทิศทางไปยังทิศทางของที่หมาย เนื่องจากเส้นฐานสำหรับกำหนดทิศทางมี 3 ชนิด อาซีมุทจึงมี 3 ชนิด ตามไปด้วยคือ

ก) อาซิมุทจริง ( True Azimuth ) คือ อาซิมุทที่วัดจากแนวทิศเหนือจริงเป็นเส้นฐานในการกำหนดทิศทาง

ข) อาซิมุทแม่เหล็ก ( Magnetic Azimuth ) คือ อาซิมุทที่วัดจากแนวทิศเหนือแม่เหล็กเป็นเส้นฐานในการกำหนดทิศทาง

ค) อาซิมุทกริด ( Grid Azimuth ) คือ อาซิมุทที่วัดจากแนวทิศเหนือกริดเป็นเส้นฐานในการกำหนดทิศทาง
2. อาซีมุทกลับ คือ ค่าของมุมราบที่นับจากแนวเส้นฐานสำหรับกำหนดทิศทางเวียนตามเข็มนาฬิกาไปยังทิศทางที่อยู่ตรงข้ามกับทิศทางของที่หมาย ค่าอาซีมุทกลับหาได้จากค่าอาซีมุท คือ เอา 180 องศา บวกกับค่าอาซีมุทในกรณีที่ค่าอาซีมุทน้อยกว่า 180 องศา แต่ในกรณีที่ค่าอาซีมุทมากกว่า 180 องศา ให้เอา 180 องศา ลบออก

4. แบริ่ง ( Bearings)

แบริ่ง ( Bearing ) เป็นระบบการบอกทิศทางแบบหนึ่งซึ่งการบอกทิศเป็นค่าง่ามมุมนับจากแนวอ้างอิง ส่วนเหนือหรือส่วนใต้เวียนตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกาไปสู่แนวที่หมาย ค่าแบริ่งจะอยู่ระหว่าง 1- 90 องศาหรือเศษหนึ่งส่วนสี่ของวงกลม การกำหนดค่าแบริง จะต้องบอกข้อมูลที่จำเป็นต่อไปนี้

1. แนวอ้างอิงที่จะใช้เพื่อการวัด( ส่วนเหนือหรือส่วนใต้)
2. ขนาดง่ามมุม
3. ทิศทางที่จะวัดค่ามุมเวียนไปทางตะวันออกหรือตะวันตก

* วิธีการบอกตำแหน่งในแผนที่ โดยอาศัยระยะและทิศทาง

ระยะที่จะใช้ในการบอกตำแหน่งของจุดใด ๆ ในแผนที่ คือ ระยะตามแนวนอนที่วัดได้ในแผนที่นั้น สำหรับทิศทางที่ใช้ประกอบในการบอกระยะอาจจะใช้ค่าอาซีมุทหรือแบริ่งได้ หน่วยในการบอกระยะและทิศทางสามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวกและความเหมาะสม การบอกตำแหน่งด้วยวิธีนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "การกำหนดตำแหน่งโดยอาศัยพิกัดโพล่าร์"

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแผนที่

ความหมายของแผนที่



พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของแผนที่ไว้ว่า

“แผนที่ คือ สิ่งที่แสดงลักษณะของพื้นผิวโลกทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและที่ปรุงแต่งขึ้น โดยแสดงลงในพื้นแบนราบ ด้วยการย่อให้เล็กลงตามขนาดที่ต้องการและอาศัยเครื่องหมายกับสัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้น”

ความสำคัญและประโยชน์ของแผนที่

1. ด้านการทหาร แผนที่มีความจำเป็นอย่างมากในการวางแผนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ถ้าขาดแผนที่หรือแผนที่ล้าสมัย ข้อมูลไม่ถูกต้อง การวางแผนอาจผิดพลาดได้
2. ด้านการเมืองการปกครอง จำเป็นต้องอาศัยแผนที่ในการวางแผนดำเนินการ เตรียมรับหรือแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง แผนที่ในกิจกรรมทางการเมืองนอกจากแผนที่แนวเขตแดนซึ่งสำคัญแล้ว ยังต้องเกี่ยวข้องกับแผนที่ต่าง ๆ มากมาย
3. ด้านเศรษฐกิจและสังคม ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ต้องอาศัยแผนที่เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ทราบทำเลที่ตั้ง สภาพทางกายภาพแหล่งทรัพยากรและแผนที่ยังช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมและความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ได้มากขึ้น ทำให้วางแผนและพัฒนาเป็นไปได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ
4. ด้านสังคม สภาพแวดล้อมทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ที่เห็นชัดคือสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปการศึกษาสภาพการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยแผนที่เป็นสำคัญ และอาจช่วยให้การดำเนินการวางแผนพัฒนาสังคมเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง
5. ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว แผนที่มีความจำเป็นต่อนักท่องเที่ยวในอันที่จะทำให้รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวได้ง่าย สะดวกในการวางแผนการเดินทาง หรือเลือกสถานที่ท่องเที่ยวตามความเหมาะสม
6. ด้านการเรียนการสอน แผนที่เป็นตัวส่งเสริมกระตุ้นความสนใจ และก่อให้เกิดความเข้าใจในบทเรียนดีขึ้น
7. ใช้เป็นแหล่งข้อมูลทั้งทางด้านกายภาพ ภูมิภาค วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สถิติและการกระจายของสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ
8. ใช้เป็นเครื่องช่วยแสดงภาพรวมของพื้นที่หรือของภูมิภาค อันจะนำไปศึกษาสถานการณ์และวิเคราะห์ความแตกต่าง หรือความสัมพันธ์ของพื้นที่

การจำแนกชนิดของแผนที่

ปัจจุบันการจำแนกชนิดของแผนที่ อาจจำแนกได้หลายแบบแล้วแต่จะยึดถือสิ่งใดเป็นหลักในการจำแนก เช่น

1. การจำแนกชนิดของแผนที่ตามลักษณะที่ปรากฏบนแผนที่ แบ่งได้เป็น 3 ชนิดคือ

1.1 แผนที่ลายเส้น ( Line Map ) เป็นแผนที่แสดงรายละเอียดในพื้นที่ด้วยเส้นและองค์ประกอบของเส้น ซึ่งอาจเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง ท่อนเส้น หรือเส้นใด ๆ ที่ประกอบเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถนนแสดงด้วยเส้นคู่ขนาน อาคารแสดงด้วยเส้นประกอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม สัญลักษณ์ที่แสดงรายละเอียดเป็นรูปที่ประกอบด้วยลายเส้น แผนที่ ลายเส้นยังหมายรวมถึงแผนที่แบบแบนราบและแผนที่ทรวดทรง ซึ่งถ้ารายละเอียดที่แสดงประกอบด้วยลายเส้นแล้วถือว่าเป็นแผนที่ลายเส้นทั้งสิ้น

1.2 แผนที่ภาพถ่าย ( Photo Map ) เป็นแผนที่ซึ่งมีรายละเอียดในแผนที่ที่ได้จากการถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายภาพ ซึ่งอาจถ่ายภาพจากเครื่องบินหรือดาวเทียม การผลิตแผนที่ทำด้วยวิธีการนำเอาภาพถ่ายมาทำการดัดแก้ แล้วนำมาต่อเป็นภาพแผ่นเดียวกันในบริเวณที่ต้องการ แล้วนำมาใส่เส้นโครงพิกัด ใส่รายละเอียดประจำขอบระวาง แผนที่ภาพถ่ายสามารถทำได้รวดเร็ว แต่การอ่านค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยเครื่องมือและความชำนาญ

1.3 แผนที่แบบผสม ( Annotated Map ) เป็นแบบที่ผสมระหว่างแผนที่ลายเส้นกับแผนที่ภาพถ่าย โดยรายละเอียดที่เป็นพื้นฐานส่วนใหญ่จะเป็นรายละเอียดที่ได้จากการถ่ายภาพ ส่วนรายละเอียดที่สำคัญ ๆ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ถนนหรือเส้นทาง รวมทั้งอาคารที่ต้องการเน้นให้เห็นเด่นชัดก็แสดงด้วยลายเส้น พิมพ์แยกสีให้เห็นเด่นชัดปัจจุบันนิยมใช้มาก เพราะสะดวกและง่ายแก่การอ่าน มีทั้งแบบแบนราบ และแบบพิมพ์นูน ส่วนใหญ่มีสีมากกว่าสองสีขึ้นไป

2. การจำแนกชนิดของแผนที่ตามขนาดของมาตราส่วน

ประเทศต่าง ๆ อาจแบ่งชนิดของแผนที่ตามขนาดมาตราส่วนไม่เหมือนกัน ที่กล่าวต่อไปนี้เป็นการแบ่งแผนที่ตามขนาดมาตราส่วนแบบหนึ่งเท่านั้น

2.1 แบ่งมาตราส่วนสำหรับนักภูมิศาสตร์

2.1.1 แผนที่มาตราส่วนเล็ก ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนเล็กว่า 1:1,000,000

2.1.2 แผนที่มาตราส่วนกลาง ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนตั้งแต่ 1:250,000 ถึง 1:1,000,000

2.1.3 แผนที่มาตราส่วนใหญ่ ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนใหญ่กว่า 1:250,000

2.2 แบ่งมาตราส่วนสำหรับนักการทหาร

2.2.1 แผนที่มาตราส่วนเล็ก ได้แก่ แผนที่มาตราส่วน 1:600,000 และเล็กกว่า

2.2.2 แผนที่มาตราส่วนกลาง ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนใหญ่กว่า 1:600,000 แต่เล็กกว่า 1:75,000

2.2.3 แผนที่มาตราส่วนใหญ่ ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนตั้งแต่ 1:75,000 และใหญ่กว่า

3. การจำแนกชนิดแผนที่ตามลักษณะการใช้งานและชนิดของรายละเอียดที่แสดงไว้ในแผนที่

3.1 แผนที่ทั่วไป (General Map) เป็นแผนที่พื้นฐานที่ใช้อยู่ทั่วไปหรือที่เรียกว่า Base map

3.1.1 แผนที่แสดงทางราบ (Planimetric Map) เป็นแผนที่แสดงรายละเอียดที่ปรากฏบนผิวโลกเฉพาะสัณฐานทางราบเท่านั้น

3.1.2 แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic Map) เป็นแผนที่แสดงรายละเอียดทั้งทางแนวราบและแนวดิ่ง หรืออาจแสดงให้เห็นเป็น 3 มิติ

3.2 แผนที่พิเศษ (Special Map or Thematic Map) สร้างขึ้นบนแผนที่พื้นฐาน เพื่อใช้ในกิจการเฉพาะอย่าง

4. การจำแนกตามมาตราฐานของสมาคมคาร์โตกร๊าฟฟี่ระหว่างประเทศ(ICA)

สมาคมคาร์โตกร๊าฟฟี่ระหว่างประเทศ ได้จำแนกชนิดแผนที่ออกเป็น 3 ชนิด

4.1 แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic map) รวมทั้งผังเมืองและแผนที่ภูมิศาสตร์ เป็นแผนที่ที่ให้รายละเอียด โดยทั่วๆ ไป ของภูมิประเทศ โดยสร้างเป็นแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วนขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ และได้ข้อมูลมาจากภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่มาตราส่วนเล็กบางทีเรียกว่าเป็นแผนที่ภูมิศาสตร์ (Geographical map) แผนที่ทั่วไป (General map) และแผนที่มาตราส่วนเล็กมากๆ ก็อาจอยู่ในรูปของแผนที่เล่ม (Atlas map)

4.2 ชาร์ตและแผนที่เส้นทาง (Charts and road map) เป็นแผนที่ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือประกอบการเดินทาง โดยปกติจะเป็นแผนที่มาตราส่วนกลาง หรือมาตราส่วนเล็ก และแสดงเฉพาะสิ่งที่เป็นที่น่าสนใจของผู้ใช้ เช่น ชาร์ตเดินเรือ ชาร์ตด้านอุทกศาสตร์ เป็นต้น

4.3 แผนที่พิเศษ (Thematic and special map) ปัจจุบันมีความสำคัญมากขึ้น เพราะสามารถใช้ประกอบการทำวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ การวางแผนและใช้ในงานด้านวิศวกรรม แผนที่ชนิดนี้จะแสดงข้อมูลเฉพาะเรื่องลงไป เช่น แผนที่ดิน แผนที่ประชากร แผนที่พืชพรรณธรรมชาติ แผนที่ธรณีวิทยา เป็นต้น

นอกจากที่กล่าวมานี้ เรายังสามารถจำแนกแผนที่โดยยึดหลักเกณฑ์อื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ ครั้งที่พิมพ์ ฯลฯ แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะหลักเกณฑ์ ไม่แน่นอน

องค์ประกอบของแผนที่

องค์ประกอบของแผนที่ที่จะกล่าวต่อไปนี้ หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นแผนที่ ซึ่งผู้ผลิตแผนที่จัดแสดงไว้โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้ใช้แผนที่ได้ทราบข่าวสารและรายละเอียดอย่างเพียงพอสำหรับการใช้แผนที่นั้น แผนที่ที่จัดทำขึ้นก็เพื่อแสดงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งเรียกว่า “ระวาง” ( Sheet ) และในแผนที่แต่ละระวางจะพิมพ์ออกมาเป็นกี่แผ่น ( Copies ) ก็ได้ วัสดุที่ใช้ พิมพ์แผนที่ควรมีลักษณะสำคัญ คือ ยืดหรือหดน้อยที่สุดเมื่อสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง

องค์ประกอบแผนที่แต่ละระวาง ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

1. เส้นขอบระวาง ตามปกติรูปแบบของแผนที่ทั่วไปจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ห่างจากริมทั้งสี่ด้านของแผนที่เข้าไปจะมีเส้นกั้นขอบเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งเรียกว่าเส้นขอบระวางแผนที่ ( Border ) เส้นขอบระวางแผนที่บางแบบประกอบด้วยขอบสองชั้น เพื่อให้เกิดความสวยงาม สำหรับแผนที่ภูมิประเทศโดยทั่วไป เส้นขอบระวางมีเพียงด้านละเส้นเดียว บางชนิดมีเส้นขอบระวางเพียงสองด้านเท่านั้น ที่เส้นขอบระวางแต่ละด้านจะมีตัวเลขบอกค่าพิกัดกริด และค่าพิกัดภูมิศาสตร์ (ค่าของละติจูดและลองติจูด) หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นในแผนที่แผ่นหนึ่งเส้นขอบระวางแผนที่จะกั้นพื้นที่บนแผ่นแผนที่ออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือพื้นที่ภายในขอบระวางแผนที่ และพื้นที่นอกขอบระวางแผนที่

2. องค์ประกอบภายในขอบระวาง หมายถึง สิ่งทั้งหลายที่แสดงไว้ภายในกรอบ ซึ่งล้อมรอบด้วยเส้นขอบระวางแผนที่ ตามปกติแล้วจะประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้ คือ

1. สัญลักษณ์ ( Symbol ) ได้แก่ เครื่องหมายหรือสิ่งซึ่งคิดขึ้นใช้แทนรายละเอียดที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวภูมิประเทศ หรือให้แทนข้อมูลอื่นใดที่ต้องการแสดงไว้ในแผนที่นั้น
2. สี ( Colour ) สีที่ใช้ในบริเวณขอบระวางแผนที่จะเป็นสีของสัญลักษณ์ที่ใช้แทนรายละเอียดหรือข้อมูลต่าง ๆ ของแผนที่
3. ชื่อภูมิศาสตร์ ( Geographical Names ) เป็นตัวอักษรกำกับรายละเอียดต่าง ๆ ที่แสดงไว้ภายในขอบระวางแผนที่ เพื่อบอกให้ทราบว่าสถานที่นั้นหรือสิ่งนั้นมีชื่อเรียกอะไร
4. ระบบอ้างอิงในการกำหนดตำแหน่ง ( Position Reference Systems ) ได้แก่ เส้นหรือตารางที่แสดงไว้ในขอบระวางแผนที่ เพื่อใช้ในการกำหนดค่าพิกัดของตำแหน่งต่าง ๆ ในแผนที่นั้น


ระบบอ้างอิงในการกำหนดตำแหน่งมีหลายชนิดที่นิยมใช้ในแผนที่ทั่วไปมี 2 ชนิดคือ

1. พิกัดภูมิศาสตร์ ( Geographic Coordinates ) ได้แก่ เส้นขนานและเส้นเมอริเดียนที่บอกค่าละติจูดและลองติจูด อาจแสดงไว้เป็นเส้นยาวจรดขอบระวางแผนที่ หรืออาจแสดงเฉพาะส่วนที่ตัดกันเป็นกากบาท(graticul ) อย่างเช่นแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 หรืออาจแสดงเป็นเส้นสั้นๆ เฉพาะที่ขอบ
2. พิกัดกริด ( Rectangular Coordinates ) ได้แก่ เส้นขนานสองชุดที่มีระยะห่างเท่า ๆ กัน ตัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก เส้นตรงขนานทั้งสองชุดดังกล่าวอาจแสดงไว้เป็นแนวเส้นตรงยาวจรดขอบระวางหรืออาจแสดงเฉพาะส่วนที่ตัดกันก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม

3. องค์ประกอบภายนอกขอบระวาง หมายถึง พื้นที่ตั้งแต่เส้นขอบระวางไปถึงริมแผ่นแผนที่ทั้งสี่ด้าน บริเวณพื้นที่ดังกล่าวผู้ผลิตแผนที่จะแสดงรายละเอียดอันเป็นข่าวสารหรือ ข้อมูลที่ผู้ใช้แผนที่ควรทราบและใช้แผนที่นั้นได้อย่างถูกต้องตรงตามความ มุ่งหมายของผู้ผลิตแผนที่

รายละเอียดนอกขอบระวางจะมีอะไรบ้างขึ้นอยู่กับชนิดของแผนที่ สำหรับแผนที่ภูมิประเทศที่ผลิตขึ้นใช้โดยทั่วไปมีรายละเอียดดังนี้

3.1 ระบบบ่งระวาง ( Sheet identification System ) การผลิตแผนที่ภูมิประเทศที่คลุมพื้นที่กว้างใหญ่ จำนวนแผนที่ที่ผลิตขึ้นใช้ย่อมมีหลายระวางจึงต้องจัดเข้าเป็นชุด ( Series ) และเพื่อสะดวกในการใช้จึงต้องวางระบบเพื่อเรียกหรืออ้างอิงแผนที่แต่ละระวางภายในชุดขึ้น

3.2 มาตราส่วนแผนที่ ( Map Scale ) มาตราส่วนแผนที่เป็นข่าวสารหรือข้อมูลที่ผู้ผลิตแผนที่แสดงไว้บนแผ่นแผนที่ ให้ผู้ใช้แผนที่ ได้ทราบว่าแผนที่แผ่นนั้นย่อจากภูมิประเทศจริง ที่ตรงกันด้วยอัตราส่วนเท่าใด

3.3 คำอธิบายสัญลักษณ์ ( Legend ) ประกอบด้วยตัวอย่างสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงรายละเอียดในแผนที่แผ่นนั้น พร้อมด้วยคำอธิบายความหมายของสัญลักษณ์นั้น ๆ อาจแสดงไว้ทั้งหมดหรือเลือกแสดงเฉพาะสัญลักษณ์ที่พิจารณาเห็นว่าสำคัญและจำเป็นก็ได้

3.4 ศัพทานุกรม ( Glossary ) เป็นส่วนที่ผู้ผลิตแผนที่แสดงไว้เพื่อให้ผู้ใช้แผนที่เกิดความเข้าใจความหมายของคำที่ใช้ในแผนที่นั้น มักจะใช้กับแผนที่ ที่มีตั้งแต่สองภาษาขึ้นไป ตัวอย่างเช่น

Amphoe ...............Secondary Administrative Division

Ban ………………...........................................Village

Changwat .................Primary Administrative Division

Khlong .……………...........................................Canal

3.5 วิธีออกเสียง ( Pronunciation Guide ) มีในแผนที่ที่ใช้ตั้งแต่สองภาษาขึ้นไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ผู้ใช้ออกเสียงชื่อภูมิศาสตร์ที่ใช้ในแผนที่นั้นได้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น

ae = a as in hat o = aw as in dawn

oe = er as in percent u = u as in rule

kh = k as in king ph = p as in pat

Th = t as in Tom

3.6 สารบาญต่าง ๆ ( Indexes ) เป็นแผนภาพแบบต่าง ๆ ที่แสดงไว้ภายนอกขอบระวางแผนที่ เพื่อแสดงข้อมูลบางอย่างที่อาจมีคามจำเป็นสำหรับผู้ใช้แผนที่ สารบาญต่าง ๆ ที่หลายชนิด ซึ่งอาจแยกอธิบายได้ดังนี้

3.6.1 สารบาญระวางติดต่อ ( Index to Adjoining Sheet ) เป็นแผนภาพที่แสดงให้ทราบว่า โดยรอบแผนที่ระวางที่ใช้อยู่มีระวางใดบ้างเพื่อสะดวกในการค้นหาระวางถัดไป ระวางที่ใช้อยู่จะแสดงด้วยกรอบเข้มอยู่ตรงกลาง ดังตัวอย่างเช่น



3.6.2 สารบาญแสดงเขตการปกครอง ( Index to Boundaries ) เป็นแผนภาพที่แสดงให้ทราบว่าพื้นที่ส่วนใดในแผนที่ระวางนั้น อยู่ในเขตการปกครองของประเทศ จังหวัด หรืออำเภอใด ดังตัวอย่าง

3.6.3 บันทึกต่าง ๆ ( Notes ) เป็นข้อความที่บอกถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับแผนที่แผ่นนั้นที่ผู้ผลิตเห็นว่าผู้ใช้แผนที่ควรจะทราบและอาจก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ผู้ใช้แผนที่ และผู้ผลิตแผนที่เอง

3.6.4 แผนภาพต่าง ๆ ( Diagrams ) เป็นแผนภาพที่ผู้ผลิตแผนที่แสดงไว้ภายนอกขอบระวางโดยมีความมุ่งหมายที่จะแจ้งข่าวสาร หรือข้อมูลให้ผู้ใช้แผนที่ได้ทราบด้วยภาพแทนการบรรยายด้วยข้อความแผนภาพดังกล่าวอาจมีหลายชนิด แต่ที่แสดงไว้ในแผนที่ประเทศไทย 1:50,000 ชุด L 7017 ซึ่งเป็นแผนที่มูลฐานของประเทศไทยชุดใหม่

มาตราส่วนแผนที่ ( MAP SCALE)

มาตรา ส่วนแผนที่เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับแผนที่ทุกแผ่นเพราะมาตรา ส่วนแผนที่เป็นข่าวสารหรือข้อมูลที่ผู้ผลิตแผนที่แสดงไว้บนแผนที่ เพื่อให้ผู้ใช้แผนที่ได้ทราบว่าแผนที่นี้ย่อจากภูมิประเทศจริงที่ตรงกันด้วย อัตราส่วนเท่าใด

ความหมายของมาตราส่วน

มาตราส่วนแผนที่ ( Map Scale ) คือ อัตราส่วนระหว่างระยะทางในแผนที่กับระยะทางจริงที่ตรงกันในภูมิประเทศ มาตราส่วนแผนที่อาจเขียนได้เป็นสูตรดังนี้ คือ



ชนิดของมาตราส่วน

มาตราส่วนแผนที่ที่ใช้กันทั่วไปมี 3 รูปแบบ คือ

1 มาตราส่วนเศษส่วน ( Representative Fraction ใช้ตัวย่อว่า RF หรือมาตราส่วนตัวเลข Numerical Scale ) คือ การบอกอัตราส่วนเปรียบเทียบระยะทางระหว่างจุดเดียวกันในภูมิประเทศ ในลักษณะของตัวเลขเป็นเศษส่วน เช่น 1:1,000 หรือ 1/1000 โดยเทียบให้ระยะแผนที่เป็นหนึ่งหน่วยเสมอ ในที่นี้หมายความว่า ระยะ 1 หน่วยในแผนที่จะเท่ากับระยะทางในภูมิประเทศ 1,000 หน่วย (ในขณะเดียวกัน)

2 มาตราส่วนคำพูด ( Verbal Scale ) เป็นมาตราส่วนที่บอกให้ทราบโดยตรงว่า 1 หน่วยของความยาวในแผนที่เท่ากับกี่หน่วยของความยาวในภูมิประเทศจริง โดยมากใช้มาตราวัดในระบบเดียวกัน เช่น 1 นิ้ว ต่อ 1 ไมล์ หรือ 1 เซนติเมตร ต่อ 5 กิโลเมตร เป็นต้น

3 มาตราส่วนรูปภาพ หรือมาตราส่วนบรรทัด ( Graphic Scale หรือ Bar Scale ) เป็นมาตราส่วนที่เป็นเส้นตรงซึ่งถูกแบ่งเป็นส่วน ๆ และมีตัวเลขกำกับไว้ เพื่อบอกให้ทราบว่าระยะแต่ละส่วนในแผนที่นั้นแทนระยะในภูมิประเทศจริงเท่าไร

การแปลงมาตราส่วน

มาตราส่วนทั้ง 3 รูปแบบนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงจากแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่งได้

1. การเปลี่ยนมาตราส่วนเศษส่วนเป็นมาตราส่วนคำพูดและมาตราส่วนรูปภาพ

2. การเปลี่ยนมาตราส่วนคำพูดเป็นมาตราส่วนเศษส่วนและมาตราส่วนรูปภาพ

3. การเปลี่ยนมาตราส่วนรูปภาพเป็นมาตราส่วนเศษส่วนและมาตราส่วนคำพูด

สัญลักษณ์แผนที่

ความหมายของสัญลักษณ์

สัญลักษณ์แผนที่ คือ รูปหรือเครื่องหมายหรือเส้นหรือสี ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อใช้แสดงรายละเอียดที่ปรากฏบนพื้นผิวโลก หรือแสดงข้อมูลอื่นใดลงในแผนที่ เพราะรายละเอียดเหล่านั้นบางครั้งไม่สามารถแสดงลักษณะให้คล้ายจริงได้ จึงจำเป็นต้องคิดสัญลักษณ์ขึ้นทดแทน ทั้งนี้เพื่อให้แผนที่นั้นเหมาะแก่การใช้งานและเกิดความสวยงาม

ชนิดของสัญลักษณ์

การจำแนกชนิดของสัญลักษณ์ทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่ว่าจะใช้เกณฑ์ใดในการจำแนก

1. จำแนกตามรูปร่างของสัญลักษณ์

1.1 สัญลักษณ์ที่เป็นจุดหรือเป็นรูปขนาดเล็ก ( Point or Pictorial Symbols ) สัญลักษณ์ชนิดนี้อาจเป็นได้ทั้งที่เป็นจุด วงกลม ทรงกลม รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยมหรือรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นตัวแทนที่บอกถึงตำแหน่งที่ตั้งหรือบางชนิดอาจบอกถึงขนาดได้ด้วย สัญลักษณ์ที่เป็นจุดหรือรูป ส่วนมากจะเป็นรูปทรงง่าย ๆ ใช้ทดแทนอาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น วัด โรงเรียน บ้าน ศาลา ที่ว่าการอำเภอ ที่ตั้งของเมืองหลวง เป็นต้น

1.2 สัญลักษณ์ที่เป็นเส้น ( Line Symbols ) เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่มีความยาว เช่น ถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ สายโทรเลข เส้นกั้นอาณาเขต เป็นต้น สักษณะ ของเส้นอาจเป็นเส้นตรง เส้นทึบ เส้นประ เส้นที่ถูกแบ่งด้วยขีดสั้น ๆ และอาจใช้สีต่าง ๆ กัน

1.3 สัญลักษณ์ที่เป็นพื้นที่ ( Area Symbols ) เป็นสัญลักษณ์ที่แทนพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ๆ เช่น ทุ่งนา ป่าไม้ แหล่งน้ำ การใช้ที่ดิน พื้นที่สวน พื้นที่ไร่ ซึ่งบางพื้นที่นั้นอาจมีสีหรือสัญลักษณ์อื่น ๆ ประกอบ เช่น หาดทรายจะมีจุดเล็ก ๆ ประกอบอยู่ด้วย พื้นที่นาก็อาจมีสัญลักษณ์รูปต้นข้าวเล็ก ๆ ประกอบอยู่ด้วย เป็นต้น

2. จำแนกตามสิ่งที่ทดแทน

2.1 สัญลักษณ์ที่ใช้แทนสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ( Natural or Physical features ) ซึ่งใช้ทดแทนสิ่งเหล่านี้ เช่น

2.1.1. แหล่งน้ำและระบบการระบายน้ำ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ ทะเล เป็นต้น

2.1.2. พืชพรรณธรรมชาติ เป็นพืชพรรณที่เกิดขึ้นเองมนุษย์มิได้ปลูกขึ้นเช่น ป่าทึบ ป่าแคระ ป่าไผ่ เป็นต้น

2.1.3. ความสูงต่ำของพื้นที่ เช่น ภูเขา ที่ราบ แอ่งน้ำ เป็นต้น

2.2 สัญลักษณ์ที่ใช้แทนสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ( Man made features ) ซึ่งใช้ทดแทน สิ่งเหล่านี้ เช่น

2.2.1. การใช้ที่ดิน เช่น พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ทำเหมืองแร่ พื้นที่ทำนาเกลือ เป็นต้น

2.2.2. การคมนาคม เช่น ทางรถยนต์ ทางรถไฟ ทางคนเดิน เส้นทางเดินเรือ เป็นต้น

2.2.3. สถานที่ราชการ เช่น ที่ตั้งศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน เป็นต้น

2.3 สัญลักษณ์ที่ใช้แทนข้อมูลพิเศษ ( Special features ) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนสิ่งซึ่งผู้เขียนแผนที่ต้องการแสดงให้ผู้ใช้ทราบ โดยสิ่งเหล่านั้นไม่มีปรากฏให้เห็นบนพื้นที่เพราะอาจเป็นข้อตกลงที่มนุษย์ทำขึ้นเท่านั้น หรืออาจมีปรากฎแต่ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เช่น

2.3.1. เส้นกั้นอาณาเขตการปกครอง ได้แก่ เส้นอาณาเขตประเทศ เขต จังหวัด เขตอำเภอ เป็นต้น

2.3.2. ความสูงของผิวโลก ได้แก่ หมุดหลักฐานแนวนอน จุดระดับสูงเที่ยง เป็นต้น

2.3.3. พิกัดภูมิศาสตร์และพิกัดฉาก

ลักษณะของสัญลักษณ์

ลักษณะของสัญลักษณ์โดยทั่วไป คือ

1. รูปอาจเหมือนหรือไม่เหมือนสิ่งที่ทดแทน เช่น สัญลักษณ์บ้าน อาจแสดงด้วยรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ

2. สัญลักษณ์ที่ใช้แทนสิ่งเดียวกันในแผนที่ต่างชุดกัน ต่างมาตราส่วนกันไม่อาจ เหมือนกันก็ได้

3. สัญลักษณ์ต้องมีคำอธิบายไว้นอกขอบระวางแผนที่ เพื่อให้ผู้ใช้แผนที่อ่านความหมายของสัญลักษณ์นั้นได้ตรงตามจุดมุ่งหมายของผู้สร้างแผนที่

สีของสัญลักษณ์

สีของสัญลักษณ์ที่ใช้แทนรายละเอียดต่าง ๆ ของแผนที่แต่ละชุดจะมีสีมากน้อยต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนรายละเอียดบนพื้นโลกที่แสดงลงในแผนที่ สีที่ใช้นอกจากจะทำให้แผนที่สวยงามแล้ว ยังช่วยให้อ่านได้ง่ายและถูกต้องยิ่งขึ้น สำหรับแผนที่ภูมิประเทศที่กรมแผนที่จัดพิมพ์ในระบบ 4 สี ได้เลือกสีให้สอดคล้องกับสัญลักษณ์ที่ใช้ทดแทน คือ

สีน้ำเงิน ใช้แทน แหล่งน้ำ

สีเขียว ใช้แทน พืชพันธุ์ไม้

สีแดงและสีดำ ใช้แทน สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น

สีน้ำตาล ใช้แทน เส้นชั้นความสูง

สัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นพิเศษไม่จำกัดสี